เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2565
เรื่อง การวางอารมณ์จิตในการปฏิบัติ
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
ท่านที่เข้ามาแล้วก็เตรียมกำหนดจิตของเราอยู่ในสมาธิ วางอารมณ์ใจเราให้ผ่องใสเป็นปกติ กำหนดจิตของเราเบาๆสบายๆ อยู่กับลมหายใจ อยู่กับสมาธิ อยู่กับความผ่องใส ปฏิบัติด้วยจิตอันเป็นสุข แก่นสำคัญของการปฏิบัติธรรมทั้งหมดอยู่ที่เคล็ดลับการวางอารมณ์จิต ยิ่งเราวางอารมณ์จิตในอารมณ์ที่ถูกต้อง ในอารมณ์สมาธิ ในอารมณ์กรรมฐาน การฝึกทั้งในส่วนของสมถะและการปฏิบัติการฝึกในส่วนของวิปัสสนา ก็จะมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ แก่นของการฝึกการปฏิบัติธรรม ตามที่บอกไว้ว่าคือการวางอารมณ์นั้น ส่วนใหญ่บุคคลทั่วไปไม่ได้พิจารณาตรงจุดนี้ อารมณ์มีความหนักบ้าง อารมณ์จิตมีความเพ่งบ้าง อารมณ์จิตมีความฟุ้งซ่าน มีความสงสัยต่าง ๆ ปรุงแต่งไปมากมายบ้าง อารมณ์จิตมีความขัดเคืองวุ่นวาย อารมณ์จิตมีความวิตกกังวล ซึ่งอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ในภาษาธรรมะ ภาษาบาลี ท่านรวมเรียกว่านิวรณ์ 5 ประการ รวมถึงสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลที่เรียกว่า “ปริโภช” ไม่ว่าจะเป็นความห่วงในร่างกาย ความพะวง ความเกาะในร่างกาย ความห่วงในกิจการงานหน้าที่ ห่วงบ้าน ห่วงช่อง ห่วงบ้าน ห่วงประตู ห่วงเตาไฟว่าปิดหรือยัง บ้านล็อคหรือยัง ห่วงในลูก ในหลาน ในสามี ในพ่อ ในแม่
ซึ่งความห่วงทั้งปวงนี้ รวมเรียกกันว่า ปริโภช อารมณ์จิตในการปฏิบัติ คือ เราต้องฝึกวาง วางความห่วงให้ได้ วางความวิตกกังวลให้ได้ จิตวางอยู่ในอารมณ์เบาๆ สบายๆ ที่เรียกว่า “เมฆจิต” คำว่า “เมฆจิต” นี้หมายความว่า อารมณ์มีความเบา สงบนิ่ง ลอยนิ่งอยู่ ไม่มีน้ำหนักกดทับ จิตที่มีอาการเพ่ง มีอาการกด มีอาการเค้นให้นิ่งให้หยุด อารมณ์นี้คืออารมณ์ที่หนักเกินไป แต่อารมณ์จิตที่เรียกว่าเมฆจิตนั้น หมายความว่าอารมณ์นั้นมันมีความเบา ลอยนิ่งอยู่ อุปมาเหมือนกับว่าหากเอาตาชั่งมาชั่งน้ำหนักของจิตที่เป็นอารมณ์เมฆจิต อารมณ์ที่วางไว้ในอารมณ์ที่เป็นเมฆจิต หากเราสมมุติว่ากำหนดเป็นดวงแก้วสว่างนิ่งอยู่เอาตาชั่งมาวาง ตาชั่งเป็นศูนย์ คือไม่มีน้ำหนัก ในขณะเดียวกันดวงจิตก็ไม่ได้ฟุ้งซ่าน ลอยฟุ้งไป ลอยไปในเรื่องในราวต่างๆ ลอยนิ่งสงบอยู่ แต่ปราศจากน้ำหนัก ปราศจากแรงกดแรงเค้น แต่หากอารมณ์มันมีความหนักไป ก็อุปมาเหมือนกับว่าดวงจิตที่เรากำหนดว่าจิตนั้นเป็นดวงแก้ววางบนตาชั่ง แต่ตาชั่งนั้นมันมีน้ำหนักกด มีความหนัก มีความหนักอกหนักใจ มีความพยายามที่จะเพ่ง พยายามที่จะเค้นให้มันนิ่ง ดังนั้นอารมณ์ที่มันต่างกันเพียงนิดเดียว คืออารมณ์ที่มันวางไว้เป็นเมฆจิตมีความเบาก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางไม่หนักเกินไป คือเป็นอัตตกิลมถานุโยค แล้วก็ไม่เบาเกินไปจนจิตฟุ้งซ่าน จิตซ่าน ไม่อาจรวมจิต ไม่อาจทำให้จิตมันนิ่ง มันลอยไป ปรุงไปในเรื่องราวต่างๆ
การวางอารมณ์จิตในจุดแรกของสมาธิ หากเราวางไว้ในอารมณ์เบาๆสบายๆ สงบนิ่งผ่องใส เข้าใจตรงจุดนี้ได้ การปฏิบัติในสมถะก็ง่ายขึ้น ซึ่งการปฏิบัติในภาพรวมของการปฏิบัติธรรมทั้งหมด ที่แบ่งออกมาเป็นสมถะและวิปัสสนา
ตัวสมถะ คือการฝึกฝนจิต ให้เกิดความสงบ ให้เกิดสมาธิ ให้เกิดกำลังของจิตตานุภาพในระดับที่เป็นฌาน คือนับตั้งแต่ฌาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3 ฌาน 4 เป็นต้น ไล่ไปจนกระทั่งถึงสมาบัติ 8 คืออรูปฌานอีก 4 รวมเป็นทั้งหมด เป็นสมาบัติทั้ง 8 ซึ่งตัวสมถะนั้น อุบายในการฝึก ในเริ่มต้นแรกเริ่มเลยก็คือ การฝึกสมาธิ จากอานาปานสติ การกำหนดสติ ติดตามรู้ติดตามดูในลมหายใจ จนกระทั่งเกิดความสงบของจิต ในระดับที่เข้าถึงฌาน 4 ซึ่งฌาน 4 ที่ว่านั้น ก็ยังแยกประกอบออกไปตามที่สอน ก็จะเป็นนัยยะตามที่หลวงพ่อพระราชพรหมญาณ ท่านสอนตามหลักของคัมภีร์วิสุทธิมรรค ที่ท่านศึกษาสืบต่อกันมา ตัวของฌาน 4 นั้น แยกออกไปได้ 2 อย่าง ถ้าพูดภาษาง่ายๆ ก็คือฌาน 4 ใช้งาน ที่เรียกว่าเป็นอุปจารสมาธิ กับฌาน 4 ละเอียดที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติในส่วนของการเจริญวิปัสสนาญาณก็ดี การใช้อภิญญาสมาบัติ การใช้คาถาอาคม การอธิษฐานจิต การใช้กำลังความเป็นทิพย์ การใช้กำลังแห่งมโนมยิทธิ อันที่จริงคือใช้ในระดับของฌาน 4 ใช้งาน อัปปนาสมาธิหรือฌาน 4 ละเอียดนั้น เป็นอารมณ์ที่สูงเกินไป จิตจะเข้าไปอยู่กับฌาน อยู่กับความสงบ บางครั้งไม่ถอยออกมา เป็นการหลบเข้าไปอยู่ในความสงบ หลบเข้าไปอยู่ในฌาน
แต่อันที่จริง สมาธิหรือฌานที่ควรจะทำให้คล่องก็คือฌาน 4 ใช้งาน อธิษฐานก็อธิษฐานในฌาน 4 ใช้งาน คือจิตสำรวมลง หยุดนิ่ง ลมหายใจดับ จิตนิ่งเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตเป็นอุเบกขารมณ์ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ จิตสงบนิ่งเป็นฌาน เป็นความสงบอยู่ได้ อันนี้เรียกว่า ฌาน 4 ใช้งานในอานาปานสติ ต่อมาก็คือการฝึกจิต ให้เราได้กำลังของความเป็นทิพย์ คือการได้ฌาน 4 ในกสิณ ฌาน 4 ในกสิณอันที่จริงก็ถือว่าไม่ใช่ของยาก กสิณ หลักของกสิณก็คือ การกำหนดภาพ จิตของเราจดจ่ออยู่กับภาพ อยู่กับนิมิต ดังนั้นหากจะบอกว่าเราไปติดนิมิตก็ไม่ใช่ เพียงแต่ว่าจิตของเรานั้น กำหนดจดจ่อผูกอยู่กับนิมิต จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกัคคตารมณ์อยู่กับนิมิตที่เรากำหนดอยู่ ดังนั้นในยามที่เรากำหนดในการปฏิบัติของกสิณ หากภาพนิมิตที่เราตั้งใจตั้งจิตกำหนดอาทิเช่น การกำหนดภาพพระพุทธรูปเป็นพุทธานุสติและเป็นอาโลกสิณ หากเป็นพระพุทธรูปองค์ใด เราต้องกำหนดเป็นพระพุทธรูปองค์นั้นองค์เดิม ให้ตั้งมั่นอยู่ในภาพองค์พระที่เรากำหนดไว้เสมอ หากเป็นองค์อื่นเข้ามานี้ ถือว่าจิตของเราฟุ้งซ่านหลุดไปจากเอกัคคตารมณ์ในภาพองค์พระที่เรากำหนด
กสิณนั้น เกณฑ์ของกสิณก็คือ ภาพนิมิตใดก็ตามที่เรากำหนดนึกภาพได้ เรียกว่าเป็นภาพกสิณต้น ต้นของกสิณ คือ เห็นภาพดินก็เห็นเป็นภาพดินปกติ พระพุทธรูปก็เป็นพระพุทธรูปปกติ อันนี้ก็ถือว่าจิตเราเข้าถึงปฐมฌาน จิตจดจ่อตั้งมั่น อุปมาเหมือนกับการปฏิบัติในอานาปานสติที่เราจดจ่ออยู่กับคำบริกรรมภาวนา พอถึงเวลาที่กสิณนั้นเริ่มเป็นสมาธิสูงขึ้น คือภาพขององค์พระก็ดี ภาพของกองกสิณคือดินน้ำก็ดี ลมไฟก็ดี มีสภาวะกลายเป็นภาพที่ใส เป็นแก้วใส จะมีแสงสว่างหรือไม่ก็ตาม ภาพที่เป็นแก้วใสพร้อมกับอารมณ์จิตที่เบาขึ้น ใสขึ้น ผ่องใสขึ้น เป็นสุขขึ้น นับว่าเป็นกำลังของกสิณที่เรียกว่า “อุคหนิมิต” กำลังสมาธิมีความจดจ่อสูงขึ้น มีกำลังสูงขึ้นของจิต ใกล้อารมณ์ของความเป็นทิพย์
จนกระทั่งเมื่อไหร่ก็ตามที่จิตกำหนดนะ อันนี้ก็คือเราปฏิบัติ เราน้อมนึก จนกระทั่งภาพของกสิณนั้น กลายเป็นประกายพรึก คำว่าเป็นประกายพรึกนั่น หมายความว่า ภาพจากกสิณกองใดกองหนึ่ง หรือพระพุทธรูปจากใสเป็นแก้ว เปลี่ยนสภาวะเป็นประกายระยิบระยับ เป็นประกายพรึก รวมถึงมีแสงรัศมี เป็นเส้น เป็นรุ้ง กระจายออกมาโดยรอบของภาพนิมิตของกสิณนั้น โดยการกำหนดก็ดี หรือในบางบุคคลที่มีวาสนาบารมีเก่าก็ดี ภาพที่เป็นเพชรประกายพรึกดังกล่าวนั้น นับว่ากสิณนั้นเข้าถึงฌาน 4 เป็นกำลังฌาน 4 ของกสิณ ภาษาของการปฏิบัติในกสิณ เรียกว่า “ปฏิภาคนิมิตของกสิณ”
ดังนั้นการที่เรากำหนดจิต เห็นทุกสิ่งเป็นปฏิภาคนิมิต เห็นวัตถุใดก็กำหนดเพ่ง คำว่าเพ่งคือปรับเปลี่ยนสภาวะในการสัมผัสรู้โดยจิตของเรา ว่าภาพนั้น วัตถุนั้น ที่เรามองไปปุ๊บ ภาพนั้นกลับกลายเป็นปฏิภาคนิมิต เห็นพระพุทธรูป พระพุทธรูปก็กลายเป็นปฏิภาคนิมิต คือเป็นเพชรสว่างกระจายระยิบระยับ เห็นถังสังฆทาน ชุดสังฆทานที่กำลังจะยกถวาย มองพรึบเข้าไปก็ปรากฏเห็นเป็นปฏิภาคนิมิต คือถังสังฆทานนั้น องค์พระพุทธรูป ผ้าไตรจีวรนั้น มีสภาวะ เห็นด้วยความรู้สึกของจิตว่ากลายเป็นเพชรประกายพรึก มีแสงสว่าง มีรัศมีเป็นรุ้ง เห็นสิ่งใดก็ตาม กำหนดจิต คนอื่นเขาเห็นเป็นวัตถุ เห็นเป็นของหยาบ แต่จิตของผู้ทรงฌาน ผู้ทรงกสิณ จิตทัศน์คือจิตทัศนะการสัมผัสรู้โดยความเป็นทิพย์ของบุคคล ผู้ทรงฌานในกสิณ กลับเห็นวัตถุนั้นเป็นเพชรประกายพรึก มีความสว่าง มีความผ่องใส อารมณ์จิตของเราเห็นสิ่งใดก็รู้สึกว่าเอิบอิ่มเป็นสุข เห็นในสภาวะของพลังงาน เห็นในสภาวะของความเป็นทิพย์ แสงสว่างที่ปรากฏ คือรัศมีของความเป็นทิพย์ รัศมีกระแสของบุญที่เราน้อมจิตถวาย อารมณ์จิตของผู้ทรงฌานในกสิณก็ปรากฏแตกต่างจากปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป
ถ้าจะอธิบายให้ฟังในวิสัยของผู้ที่ปฏิบัติ ปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปนั้น ถูกกำลังของความโลภ ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ถูกกำลังของนิวรณ์ 5 ประการ คือความวิตกกังวลก็ดี ความวุ่นวายใจก็ดี ความสับสนในจิตก็ดี ความกลัวทั้งหลายก็ดี ความเกลียดชัง ความโกรธแค้น ความอาฆาตพยาบาทจองเวร เกาะกุมจิตใจ เข้ามาบังคับควบคุมใจของเราให้ปรุงแต่ง ให้เศร้าหมอง ให้วุ่นวาย แต่บุคคลที่ทรงฌานนั้น เป็นบุคคลที่มีกำลังจิตตานุภาพ สามารถบังคับจิตของตนให้สะอาด ให้ห่างจากนิวรณ์ 5 ประการได้ คืออยู่กับลมหายใจสบาย อยู่กับอารมณ์ความผ่องใสของจิต อยู่กับลมสบาย อยู่กับอารมณ์ที่เป็นกุศล ไม่ถูกกำลังของกิเลส ความทุกข์ ความวุ่นวายเข้ามาควบคุมใจของเรา หรือบุคคลที่ทรงอยู่ในกำลังฌานของกสิณ ก็กำหนดจิต ไม่ว่าจะเห็นจิตตัวเองเป็นประกายพรึก ผ่องใสเป็นสุขอยู่ หรือเห็นวัตถุ เห็นพระพุทธรูป ทรงภาพพระเป็นเพชรประกายพรึกอยู่ ทรงภาพพระ 3 ฐาน คือกลางกระหม่อม ภายในศีรษะ ภายในอกของเราเป็นเพชรประกายพรึกอยู่
เมื่อจิตทรงอารมณ์อยู่ในฌาน ทรงอารมณ์อยู่ในพุทธานุสติกรรมฐาน ทรงอารมณ์อยู่ในกองกสิณแห่งความผ่องใส จิตเป็นทิพย์ กำลังอำนาจของกิเลส ความวุ่นวาย ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ไม่อาจเกาะกุมจิตใจเราได้ ดังนั้นบุคคลที่ทรงฌาน ทรงความผ่องใสของจิตและมีปัญญา เมื่อรู้จิตตนว่าจิตของเราขณะนี้มันมีความวุ่นวาย มันมีความหนัก จิตของเราขณะนี้มีความโลภเกิดขึ้น มีความโมโห มีความพยาบาท มีความโกรธแค้นเกิดขึ้น เรารู้สึกตัวเราปุ๊บ เรามีสติสอนตัวเราว่า เราไม่พึงอยู่ในอารมณ์ดังกล่าว ไม่ตกเป็นทาสของความเศร้าหมองของความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตเราระงับด้วยกำลังของตบะ คือกำลังแห่งฌานสมาบัติ ด้วยกำลังแห่งความผ่องใสกำหนดจิตกลับมาสู่ความเป็นเพชรประกายพรึก จิตเราทรงอยู่ในความผ่องใสเป็นปกติ หรือทรงอยู่ในอารมณ์ของ พุทธานุสติกรรมฐาน ทรงภาพพระเป็นเพชรประกายพรึกสว่างอยู่เป็นปกติ ไม่ยินยอมให้อารมณ์ความเศร้าหมอง ความโลภ โกรธ หลงเข้ามาทำร้าย เข้ามาครอบครองวุ่นวายอยู่กับจิตของเรา ไม่เสียเวลาไปปรุงแต่งวกวนอยู่กับความคิดที่ฟุ้งซ่านบ้าง วิตกกังวลในเรื่องไร้สาระบ้าง อยู่กับเรื่องความคิดแค้นอาฆาตพยาบาทบ้าง ความคิดน้อยอกน้อยใจต่างๆบ้าง พึงรักษาจิตตนให้มีความผ่องใส คือเป็นแก้วประกายพรึกอยู่ตลอดเวลา นี่คืออุบายหนึ่งและเหตุผลหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญของการปฏิบัติธรรมในส่วนของสมถะสมาธิ
เมื่อเข้าใจเหตุ เข้าใจประโยชน์แล้ว สิ่งที่เราใช้งานต่อไป นอกเหนือจากการที่เรากำหนดจิตให้ทรงความผ่องใส ทรงความเป็นประกายพรึกไว้เป็นปกติ นั่นก็คือเมื่ออารมณ์จิตของเรายิ่งผ่องใส อารมณ์จิตเราสบายมากเท่าไร อารมณ์จิตสงบ สงัด จากกิเลสและนิวรณ์ 5 ประการ เวลาที่เราพิจารณาในวิปัสสนาญาณ เจริญปัญญาในวิปัสสนาญาณ ปัญญาที่ปรากฏขึ้นก็จะเป็นปัญญาที่บริสุทธิ์ วิมุตหมดจด เพราะเป็นปัญญาที่เราพิจารณาในสภาวธรรม เป็นการพิจารณาในฌาน ในสมาธิ ในสมาบัติ ด้วยเหตุผลนี้ อันที่จริงการเจริญวิปัสสนาญาณ จึงเป็นการเจริญปัญญาที่จำเป็นจะต้องพิจารณาในฌาน ในสมาธิ หากเราพิจารณาในสภาวะที่ความคิดเราฟุ้งซ่าน คิดพิจารณาธรรมในขณะที่เรามีอคติ คิดพิจารณาในสภาวะดังกล่าว จิตของเรามันจะมีอุปทานบ้าง มีความคิดเข้าข้างตัวเองเป็นอคติบ้าง ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้ปัญญาที่ปรากฏจากการพิจารณาในวิปัสสนาญาณ พิจารณาในกฎไตรลักษณ์ มันมีความผิดเพี้ยน มันมีความฟั่นเฝือ มีความคิดเข้าข้างตัวเอง จนไม่เกิดสภาวะที่เรียกว่า รู้เห็นเข้าใจธรรมะทุกอย่าง ถูกต้องตามความเป็นจริงทุกประการ เหตุนี้ ทั้งสมถะและวิปัสสนาจึงมีความจำเป็นเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันเสมอ
อันที่จริงแล้ว สมถะส่งเสริมวิปัสสนาญาณ และในขณะเดียวกัน วิปัสสนาญาณก็ส่งเสริมสมถะ
ยิ่งเราตัดกิเลส พิจารณาตัดขันธ์ 5 มากเท่าไหร่ กำลังสมาธิ กำลังฌานก็ยิ่งปรากฏมากขึ้น จิตยิ่งสงบนิ่งเข้าสู่สภาวะของการปฏิบัติได้มากขึ้น ลึกซึ้งขึ้น และในขณะเดียวกันหากจิตมีกำลังฌานขั้นสูง ในยามเจริญวิปัสสนาญาณ กำลังของฌานเสริมกับความคมกล้าของปัญญาในวิปัสสนาญาณ ก็จะเกิดผลแห่งการพิจารณาตัดกิเลสได้มากกว่าบุคคลที่เจริญปัญญาแต่มีกำลังฌานน้อยหรือไม่มีกำลังของฌานสมาบัติมาช่วย ในการปฏิบัติธรรมทั้งหมด อันที่จริงแล้ว ตัวที่ยากที่สุดคือฝึกฝนทำจิตยังไงให้ได้ฌาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างน้อยที่สุดก็คือปฐมฌาน แต่หากจะคาดหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในมรรคผล เราก็ต้องหวังสูง คือหวังในกำลังของฌาน 4 เป็นอย่างน้อย ถ้ายิ่งได้กำลังแห่งสมาบัติ 8 คืออรูปสมาบัติด้วยก็ยิ่งเป็นผลดีเข้าไปใหญ่
บุคคลทั่วไปที่เข้ามาปฏิบัติธรรม หลายคนกว่าจะค้นหาเส้นทางในการปฏิบัติจนจิตของเราเข้าถึงความสงบ บางคนฝึกจิตทำสมาธิเท่าไหร่ จิตก็มีแต่ความวุ่นวาย จิตก็ไม่พบความสงบ จิตก็มีแต่เสียงของความคิดเต็มไปหมด จนหลายๆคนที่มาเรียนมาฝึก ก็บอกกับอาจารย์บอกว่า การฝึกให้จิตมันหยุดคิดนั้นมันเป็นเรื่องยาก แต่อันที่จริงเนี่ย ถ้าหากเราฝึกจนถึงขั้นหนึ่ง เข้าฌาน 4 เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว กำหนดจิตให้หยุด จิตก็ตั้งมั่นเป็นเอกัคคตารมณ์ได้โดยง่าย มันไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ว่าหากรู้จักการวางอารมณ์ให้ถูก การวางจิตให้ถูก การเข้าฌาน 4 แค่ลัดนิ้วมือเดียวก็ไม่ใช่เรื่องยาก เข้าฌาน 4 ในอานาปานสติ จิตรวมเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตหยุดนิ่งจนเห็นตัวหยุด นิ่งหยุด ผ่องใส หยุดปรุงแต่ง เห็นอุเบกขารมณ์ รู้ในการกระทบแต่จิตหยุดปรุงแต่ง ตรงนี้ก็คือจิตเข้าถึงฌาน 4 ในอานาปานสติกรรมฐาน เป็นฌาน 4 หยาบหรือฌาน 4 ใช้งาน หยุดจิต ตรงนี้ก็จะตรงกับที่ครูบาอาจารย์สายหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ท่านสอนไว้ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ หยุดที่ว่านี้ครอบคลุมทั้งหยุดจิตเป็นฌาน 4 เมื่ออธิษฐานสิ่งใดจึงสำเร็จ และขณะเดียวกันก็คือ หยุดอกุศล หยุดกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงทั้งปวง เป็นตัวสำเร็จ คือ ตัวสำเร็จมรรคผล ดังนั้น คำสอนของท่านหนึ่งคำ สามารถแตกอธิบาย ทำความเข้าใจได้ ทั้งในส่วนของสมถะและวิปัสสนา
หยุดเป็นตัวสำเร็จ
ตอนนี้ก็ให้เรา น้อมจิต หยุดจิต นิ่งหยุด กำหนดรู้พิจารณาว่าเมื่อจิตเราหยุดอยู่กับฌาน 4 ทุกวินาทีที่เราหยุดจิต จิตเราหยุด จิตเราห่างจากความโลภ ความโกรธ ความหลงทั้งปวง เมื่อห่างจากความโลภ ความโกรธ ความหลงทั้งปวง ทุกวินาทีแห่งการหยุดจิต จิตเรายิ่งใกล้มรรคผลพระนิพพาน จิตเรายิ่งชินกับสภาวะที่สะอาด สงบ จากความโลภ ความโกรธ ความหลงทั้งปวง หยุดเป็นตัวสำเร็จ นิ่งหยุด จากนั้นอธิษฐานว่า นับแต่นี้ขอให้ข้าพเจ้าเข้าถึงความนิ่ง ความหยุด จิตที่ตั้งมั่นเป็นเอกัคคตารมณ์และอุเบกขาอารมณ์ มีจิตตานุภาพอยู่เหนือจิตใจของตน ที่จะพาพ้นจากนิวรณ์ 5 และกิเลสทั้งปวง ขอจิตข้าพเจ้าหยุด จนจิตนิ่งเป็นเอกัคคตารมณ์ ปรากฏอุเบกขารมณ์ชัดเจน นิ่งสงบ ยิ่งนิ่ง ยิ่งสงบ จิตยิ่งมีความเบา มีความสบาย อันนี้ก็คือเข้าฌาน 4 เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว ต่อไปในเมื่อเข้าฌาน 4 ในอานาปานสติเพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียวเป็นเรื่องไม่ยาก ในที่นั่งเดียวเราก็กำหนดต่อไปว่า จิตอันเป็นกสิณจิต
กำหนดเห็นจิตเราเป็นดวงแก้วใส กำหนดจิตของเราพรึบ เป็นเพชรประกายพรึก ปรากฏสว่างพรึบ นิ่ง ลอยอยู่เบื้องหน้าของเรา จิตเราเป็นดวงแก้ว เป็นดวงเพชรประกายพรึก จิตของเราเป็นปฏิภาคนิมิต ในความสว่าง ในความผ่องใส ในความเป็นประกายระยิบระยับของเรา ของจิตเรานั้น จิตเราสะอาดจากความโลภ โกรธ หลงทั้งปวง เห็นจิตของตน จัดว่าเป็นเจโตปริยญาณ เป็นญาณเครื่องรู้วาระจิต แต่เป็นเครื่องรู้วาระจิตตน และจุดสำคัญ คือมีสติ รู้รักษาจิตของเราให้อยู่ในสภาวะผ่องใส ให้อยู่ในสภาวะผ่องแผ้วเบิกบาน ให้อยู่ในสภาวะที่เป็นเพชรประกายพรึกเสมออยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่มีสติรำลึกรู้ได้ ในความผ่องใสของจิตที่เป็นเพชรประกายพรึกนั้น
จุดสำคัญอยู่ที่ยิ่งแสงสว่าง ยิ่งความผ่องใสของดวงจิตมีมากเท่าไหร่ ยิ่งแผ่เมตตาสว่างออกไปมากเท่าไหร่ แสงสว่างของจิตสัมพันธ์กับอารมณ์คือเวทนา เวทนาคืออารมณ์ความสุข ความเอิบอิ่มของใจเรา ยิ่งปรากฏมากขึ้น สัมพันธ์กับภาพนิมิต เหตุผลก็คือภาพนิมิต ถ้ากำหนดเห็นภาพนิ่งๆแห้งๆ จิตมันก็ปราศจากอารมณ์ ปราศจากน้ำหล่อเลี้ยงจิต ที่จะทำให้จิตสามารถทรงฌานอยู่ได้ เคล็ดลับของการทรงฌานทรงอารมณ์ก็คือภาพนิมิตสัมพันธ์กับอารมณ์ใจของเรา ยิ่งภาพเป็นเพชรประกายพรึก รัศมีของความเป็นเพชรของดวงจิต มีความแพรวพราวสวยงามมากเท่าไหร่ จิตของเรายิ่งเอิบอิ่ม ยิ่งแช่มชื่น ยิ่งเบิกบานเพียงนั้น
น้อมจิตของเราให้เห็นภาพดวงจิตที่เป็นเพชรประกายพรึกของตน จิตมีความแย้มยิ้มจากภายใน มีความเบิกบาน มีความแช่มชื่นจากภายใน ทรงอารมณ์ความเป็นทิพย์ ความสุขของจิต อารมณ์ที่ว่านี้คืออารมณ์ความเป็นทิพย์ของจิต จิตเป็นสุขอย่างยิ่งเป็นข้อที่ 1 ภาพนิมิตของจิตมีความเป็นเพชร มีความเป็นประกายระยิบระยับ อารมณ์ใจของเรา มีความเบา มีความผ่องใส กำหนดทรงภาพ จิตเป็นเพชรประกายพรึก เรียกว่า เป็นกสิณจิต รู้จิต รู้รักษาจิต ให้มีความผ่องใส มีความเป็นทิพย์ตลอดเวลา ยิ่งมีความเป็นทิพย์มากเท่าไหร่ กำลังของญาณเครื่องรู้ ไม่ว่าจะเป็นกำลังของมโนมยิทธิก็ดี กำลังของญาณ 8 คือญาณที่ล่วงรู้ในความเป็นทิพย์ต่างๆ อาทิเช่น เจโตปริยญาณ อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ อนาคตังสญาณ บุพเพนิวาสานุสติญาณต่างๆ ก็ยิ่งมีความชัดเจนแจ่มใส หรือแม้แต่กระทั่งอารมณ์ความเป็นทิพย์ของจิตที่นำไปใช้กับคาถา กับบทสวด ใช้กับอภิญญาสมาบัติ กำลังความเป็นทิพย์ของจิตนี้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ทรงอารมณ์ความเป็นทิพย์ของจิตไว้ สามารถเข้าอย่างรวดเร็วเพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว รวมถึงสามารถที่จะทรงอารมณ์นี้ได้ยาวนานต่อเนื่องเป็นปกติ สติ ฝึกฝนในมหาสติปัฏฐาน 4 คือจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน รู้จิตตนและรู้รักษาจิตตน จิตเศร้าหมองก็รู้ว่าเศร้าหมอง และจุดสำคัญคือไม่ใช่รู้ว่าเศร้าหมองแล้วก็ปล่อยให้มันเศร้าหมองอยู่อย่างนั้น รู้ว่าเศร้าหมองก็กำหนดจิตต่อไปว่า เราต้องยกจิตขึ้นจากอารมณ์แห่งความเศร้าหมอง ขึ้นมาสู่ความผ่องใสให้ได้เป็นปกติ และทรงอารมณ์นี้ไว้ได้ จนกระทั่งจิตของเราสามารถเอาชนะความเศร้าหมอง ความคิด ความกังวล ความโลภ ความโกรธ ความหลง จนมีความผ่องใสเป็นปกติจากเนื้อในของใจเรา กำหนดจิตให้ผ่องใสเป็นปกติ ทรงอารมณ์จิตเป็นเพชรประกายพรึก จิตมีความเอิบอิ่มจนรู้สึกว่ารัศมีของจิตนั้นแผ่สว่างซ่านไปทั่วร่างกายเนื้อ แผ่สว่างเป็นรัศมีกาย ความเป็นทิพย์ของจิตแผ่สว่างออกมาเป็นออร่า เป็นรัศมีรอบร่างของเรา ทรงอารมณ์ไว้ จิตเป็นสุขอย่างยิ่ง
เมื่อจิตเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง อารมณ์ความเป็นทิพย์ของเราเริ่มทรงตัว เราก็กำหนดจิตต่อไป พิจารณาตัดร่างกาย พิจารณาให้จิตที่เป็นแก้วประกายพรึกสำรวจรู้ในกาย เห็นร่างกายเนื้อใส ทะลุ เห็นโครงกระดูก เห็นเส้นเลือดเห็นอวัยวะภายใน เห็นอาการ 32 ไม่ว่าจะเป็นสมอง ปอด หัวใจ ตับ ไต ไส้พุงต่างๆ หลอดเลือด เส้นเอ็น โครงกระดูก กล้ามเนื้อต่างๆ มองเห็นการทำงาน การเต้น การขยับ การไหลเวียนของกระแสโลหิต กำหนดเห็นกายในกาย พิจารณาให้เห็นร่างกาย พิจารณาจนเห็นว่าร่างกายนี้ ภายในก็มีสภาพสภาวะมีความเศร้าหมองเป็นเครื่องในเป็นอวัยวะ ไม่ได้สวยงาม ตามที่เราเกาะ ตามที่เราปรุงแต่ง ตามที่เราหลงใหลใฝ่ฝัน พิจารณาเห็นกายในกาย ในสภาวะของอาการ 32 คือส่วนประกอบต่างๆ เห็นกายในกาย ในสภาวะของธาตุทั้ง 4 คือธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เห็นกายในกาย ในสภาวะของอสุภสัญญา คือในความไม่สวยงาม พิจารณาว่าร่างกายเนื้อนี้ ก็เหมือนกับถุงหนังที่ภายนอกสวยงามแต่ภายในบรรจุไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นปฏิกูล คือ สิ่งที่เป็นของโสโครก สิ่งที่น่ารังเกียจ ทุกทวารคือทุกช่อง หูก็มีขี้หู ตาก็มีขี้ตา ปากก็มีน้ำลาย จมูกก็มีน้ำมูก ทวารหนักก็มีอุจจาระ ทวารเบาก็มีปัสสาวะ รวมความแล้วแม้แต่รูขุมขนที่เล็กที่สุดก็มีเหงื่อ มีคราบไคลไหลออกมาจากทวารทั้งหลายทั่วร่างกาย พิจารณาว่าสิ่งที่มันออกมาจากร่างกาย ล้วนแต่เป็นสิ่งปฏิกูล มีคำประกอบว่าขี้ทั้งสิ้น ขี้มูก ขี้ไคล อุจจาระ ปัสสาวะ พิจารณาจนจิตยอมรับตามความเป็นจริงว่าร่างกายนี้ภายในเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล
พิจารณาต่อไปว่า ร่างกายที่ปรากฏในสภาวะแบบนี้ หากเราไม่อาบน้ำซัก 10 วัน 20 วัน ความสวยงาม ความเกลี้ยงเกลา ความผุดผ่องทั้งหลาย ความสวยงามทั้งหลาย มันก็จะสลายตัวไป เนื้อตัว ผมเผ้า ร่างกายของเราหรือร่างกายของบุคคลอื่น ไม่อาบน้ำสัก 10 วัน 20 วัน ก็จะมีสภาพโสมม มีสภาพเหม็น มีสภาพที่น่ารังเกียจ พิจารณาว่าท้ายที่สุด ร่างกายที่เราเห็น ก็มีความแก่ มีความเสื่อม มีความตาย มีความสลายตัวไปในที่สุด พิจารณาให้จิตของเรานี้ คลายจากความยึดมั่นถือมั่น คลายจากความหลงในร่างกาย ทั้งร่างกายของตัวเราและบุคคลอื่น การพิจารณาในวิปัสสนาญาณนั้น มีจุดมุ่งหมายให้จิต คือถามจิต ตอบจิต สอนจิตของเรา ให้หลุดจากการยึด จากความหลง คืออวิชชาที่หลงในกาย ที่เมาในร่างกาย ที่หลงในชีวิต ที่เมาในชีวิต จนเห็นธรรมตามความเป็นจริงว่า ช่วงเวลาทั้งหมดที่เราใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นมนุษย์นี้ อันที่จริงมันเป็นเรื่องของชั่วคราว ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี แต่เวลาในสังสารวัฏนี้ยังมีเนิ่นยาวนานอย่างหาที่สุดไม่ได้
จิตของเรากำหนดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ รู้แต่ยาวนานมหาศาล จิตทุกดวงล้วนกำเนินขึ้นมา มากเกินกว่าล้านล้านล้านล้านล้านปี จิตทุกดวงปรากฏขึ้นมาก่อนสมเด็จองค์ปฐมทรงปรากฏขึ้น เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อันที่จริงเราทุกคนล้วนแต่เป็นอมตะอยู่แล้ว นั่นก็คือจิตนั้นเป็นอมตะ ไม่แตกดับ ไม่สลายตัวไป มีเพียงแค่เปลี่ยนสภาวะ เปลี่ยนภพ เปลี่ยนภูมิ เปลี่ยนพลังงานไปอยู่ตามภพภูมิต่างๆ เวียนว่ายตายเกิด หมุนเวียน ไม่ว่าจะเกิดเป็นคนจน เกิดเป็นคนรวย เกิดเป็นพระยามหากษัตริย์ เกิดขึ้นเป็นเทพเทวดา เกิดเป็นพรหม จุติเป็นพรหม ลงนรก หมุนเวียน เวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด พบเจอพระพุทธเจ้าบ้าง ไม่พบเจอบ้าง แล้วแต่บุญแล้วแต่วาสนา แต่การเวียนว่ายตายเกิดนี้ หากไม่พบพระพุทธเจ้า หากไม่ปฏิบัติธรรม หากไม่ตัดสินใจที่จะเข้าในกระแสแห่งมรรคผล การเวียนว่ายตายเกิดของเราก็ยังอีกยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด
พิจารณาให้เห็นว่าการมาอาศัยอยู่ในร่างกายนี้มันเป็นเพียงแค่เวลาที่สั้น จนไม่รู้ว่าสั้นยังไงเมื่อเทียบกับเวลาในสังสารวัฏทั้งหมดที่ผ่านมาของเรา แต่จิตทุกดวงที่ถูกลบสัญญามาเมื่อตอนเกิด ก็ล้วนแต่เกิดอุปทาน เกิดความยึด เกิดความเกาะ เกิดความหลงว่ากายนี้เป็นตัวเราของเรา ยามที่ไปจุติเป็นเทวดาก็ดี เป็นพรหมก็ดี ก็ยึดว่าวิมานความเป็นทิพย์ของสวรรค์ชั้นนี้ พรหมชั้นนั้นเป็นวิมานของเรา แต่เมื่อไหร่ที่หมดบุญเราก็ร่วงก็หล่นจากวิมานที่เราได้เคยครอบครอง เคยอาศัย มาเกิด มาจุติเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้างหรือลงนรกบ้าง ความยึด ความเกาะ ความหลง ไม่ว่าจะเป็น ภพใดภูมิใดก็ตาม ทุกภพทุกภูมิล้วนแต่แปรเปลี่ยนหมุนเวียนไม่เที่ยง ไม่มีที่สิ้นสุด อย่างเก่งก็เพียงแต่ยื้อให้พ้นนรก ยื้อในการประคับประคองบุญให้อยู่ในความเป็นทิพย์ ในความเป็นเทวดา ในความเป็นพรหมให้ยาวนานที่สุดเท่านั้น
แต่ในที่สุดก็อุปมาเหมือนบุคคลที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ รอการร่วงหล่น เมื่อไหร่ที่หมดกำลังก็ร่วงหล่นจากกิ่งไม้ตกไปภายในใต้เหวบ้าง ห้วงน้ำอันมีสัตว์ร้าย มีจระเข้รอคอยขบกิน นั่นก็คือกระแสของกรรมที่คอยส่งผล กระแสของอกุศล ที่คอยส่งผลรอเวลาอยู่ เราโหนอยู่บนต้นไม้ ยื้อเวลาให้นานที่สุด แต่ในที่สุดก็ต้องรับกรรมและผลแห่งกรรมนั้น นอกจากการที่เราจะพิจารณาว่าเราเห็นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว เห็นทุกข์จากการมีสังขารร่างกายที่เป็นกายเนื้อแล้ว เห็นภัยเห็นโทษของสังสารวัฏแล้ว เราปรารถนาจุดเดียวคือตามพระพุทธองค์เพื่อเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน คือตั้งจิตเปิดใจของเรา พิจารณาธรรม ว่าเมื่อเจอพระพุทธเจ้า ได้พบเจอพระพุทธศาสนาแล้ว อันที่จริงเราทุกคนถ้าพิจารณาได้ก็พร้อมที่จะปฏิบัติเพื่อพระนิพพานกันได้ทุกคน เพียงแค่ตั้งใจให้เด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิจารณาว่าเราเห็นภัยในสังสารวัฏ เบื่อหน่ายการเวียนว่ายตายเกิด แล้วก็ทรงอารมณ์ใจของเราว่า เราจะทรงอารมณ์จิตในอารมณ์แห่งพระอริยเจ้าเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา คืออารมณ์แห่งพระโสดาบัน
กำหนดจิตพิจารณาเห็นว่าร่างกายนี้ในที่สุดก็ต้องตาย พิจารณาต่อไปว่าความมั่นคงในพระรัตนตรัย วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในการปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพาน ความลังเลสงสัยว่าเราจะเข้าพระนิพพานชาตินี้ได้หรือไม่ ไม่มีในจิตของเราอีกต่อไป และพิจารณาในข้อสุดท้ายคือ การตัดสีลัพพตปรามาส ตั้งใจว่านับแต่นี้เราจะอยู่ในเส้นทางของความดี ในกุศล มีศีล 5 ที่บริบูรณ์ มีจิตที่รักษาศีล เป็นศีลที่ประกอบไปด้วยเมตตาพรหมวิหาร 4 เป็นศีลที่เกิดขึ้นจากกำลังใจที่คิดพิจารณาว่า นับแต่นี้ไป เราจะเป็นบุคคลที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ว่าจะเป็นคน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ เรามีแต่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาต่อมวลสรรพสัตว์ทั้งปวง
ทรงอารมณ์ไว้ในอารมณ์พระโสดาบัน ตั้งใจให้เด็ดขาดในการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เมื่อกำลังใจของเราตั้งไว้ชอบแล้ว ตั้งไว้ดีแล้ว การเข้าถึงพระนิพพานก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกำลังใจของเราเคยฝึก เคยปฏิบัติ มีกำลังของมโนมยิทธิ ซึ่งแปลว่าฤทธิ์ทางใจ เราก็กำหนดจิต กำหนดดวงแก้วที่เป็นประกายพรึก น้อมจิตอธิษฐาน นึกถึงพระพุทธเจ้า กำหนดจิต ขออาราธนาบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ ขอให้กายทิพย์ของข้าพเจ้าจงปรากฏขึ้น เป็นกายที่ตั้งจิตปรารถนาซึ่งพระนิพพาน เป็นกายของพระวิสุทธิเทพ ขอกายพระวิสุทธิเทพจงปรากฏขึ้น
พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันปรินิพพาน รวมถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ ที่ทรงดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานแล้ว อยู่บนพระนิพพาน ในสภาวะใดก็ตาม ข้าพเจ้าขอตามเสด็จพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ รวมถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ เป็นพระสุปฏิปันโน ขอตามเสด็จขึ้นไป ขออาทิสมานกายข้าพเจ้า จงปรากฏบนพระนิพพานด้วยเถิด กำหนดจิตว่าเมื่อเราอยู่เบื้องหน้าพระพุทธองค์ อยู่เบื้องหน้าทุกท่านบนพระนิพพานแล้ว ตั้งจิตขอให้กายพระวิสุทธิเทพของเรายิ่งสว่างชัดเจน
จากนั้นกำหนดอธิษฐานให้ปรากฏ ธูปแพ เทียนแพ พานครู จงปรากฏขึ้น บนมือของกายทิพย์เราประคอง ธูปแพ เทียนแพที่เป็นเพชรสว่าง น้อมจิตอธิษฐาน เนื่องจากวันนี้เป็นวันครู ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมจิตอธิษฐานไหว้ครู ผู้ทรงเป็นพระบรมครูคือพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ไหว้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายในอดีตชาติ รวมถึงชาติปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทสรรพวิชาทั้งหลาย พ่อปู่ฤาษีทั้ง 108 ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยเจ้า พระอริยสงฆ์ ครูบาอาจารย์ที่เป็นฆราวาส ครูบาอาจารย์ที่สอนวิชาทั้งทางโลก ทางธรรม ครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาหาเลี้ยงชีพให้กับข้าพเจ้าทุกคนทุกท่าน ข้าพเจ้าขอน้อมจิต ไหว้คุณครูบาอาจารย์ รวมทั้งพ่อแม่ที่เป็นครูบาอาจารย์คนแรกของข้าพเจ้าในทุกภพทุกชาติ ขอทุกท่านไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่ จงปรากฏโดยจิตโดยความเป็นทิพย์บนพระนิพพาน ณ บัดนี้ด้วยเถิด
จากนั้นตั้งจิตอธิษฐาน ขอพานแก้วอันเป็นกุศลแห่งสัมมาปฏิบัติของข้าพเจ้า ขอกำลังบุญจงปรากฏเป็นพาน ธูปแพ เทียนแพ เป็นกำลังแห่งบุญ ข้าพเจ้าขอยกน้อมถวายบูชาคุณครูบาอาจารย์ ด้วยกำลังแห่งความกตัญญูกตเวทิตา ด้วยกำลังแห่งความนอบน้อมเคารพในแรงครู ในพระคุณแห่งครูบาอาจารย์ ขอจงเกิดกระแสแห่งกุศล กระแสแห่งบุญ แรงครูบาอาจารย์จงมาประสิทธิประสาทเหนือเกล้ากระหม่อมจอมขวัญตลอดถ้วนทั่วทั้งกายและจิต กายทิพย์อาทิสมานกาย ขอจงปรากฏกำลังแรงแห่งครูบาอาจารย์มาประสิทธิ์ประสาท ให้นับแต่นี้ข้าพเจ้ามีแต่ความคล่องตัวทั้งทางโลก ทางธรรม ทางโลกขอจงมีความคล่องตัวในการหาเลี้ยงชีพทุกด้าน กระแสเงิน กระแสบุญ กระแสสายสมบัติ จงมาสนับสนุนต่อเนื่อง เปิดสายทรัพย์ เปิดสายสมบัติ เปิดสายบารมี มีความคล่องตัวอย่างอัศจรรย์ทันใจ และในทางธรรมนั้น ขอให้นับแต่นี้ข้าพเจ้าจงเจริญรุ่งเรืองในธรรม ในศาสนาแห่งสมเด็จองค์พระสมณโคดม ธรรมทั้งหลายขอให้กระจ่างแจ้งแทงตลอด ประดุจดังฝ่ามือที่แจ้ง รู้ชัดเจน ขอให้จิตข้าพเจ้านี้มีปัญญาพิจารณาโดยแยบคาย พิจารณาในกระแสแห่งธรรมได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง กระแสแห่งปฏิสัมภิทาญาณจงปรากฏเป็นปัญญาญาณอันยิ่งในธรรมให้กับข้าพเจ้า และขอให้นับแต่นี้การปฏิบัติของข้าพเจ้า จงมุ่งลัดตัดตรงสู่มรรคผลพระนิพพานด้วยเทอญ
กำหนดน้อมจิต ยกถวายธูปแพ เทียนแพกับพระพุทธเจ้าสมเด็จองค์ปฐม และน้อมถวาย แยกอาทิสมานกาย ถวายทุกท่าน ทุกรูป ทุกนาม จากนั้นกำหนดให้กายทิพย์ของเรากราบเบญจางคประดิษฐ์ น้อมจิตกราบช้าๆ บรรจงด้วยความนอบน้อม กำหนดน้อมให้กระแสของครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จองค์ปฐมองค์พระบรมครู แผ่ซึมซาบทั่วทั้งกายทิพย์และกายเนื้อของเรา ตั้งใจว่าวันนี้เราได้ไหว้ครูบนพระนิพพาน ได้ไหว้ครูคือพระพุทธเจ้า ไหว้ครูด้วยกายทิพย์ ถึงทุกท่าน ทุกรูป ทุกนาม ขอให้ความเจริญรุ่งเรือง ความเป็นสวัสดิมงคลสมบูรณ์พูนผลจงปรากฏอัศจรรย์ จากนั้นกราบลาทุกท่าน กำหนดว่าบุญนี้จงสำเร็จประโยชน์ต่อท่านผู้มีพระคุณทั้งปวง
จากนั้นกำหนดหายใจลึกๆช้าๆ หายใจเข้าพุท ออกโธ เรามีคุณของพระพุทธเจ้าคุ้มครองรักษา
หายใจเข้าลึกๆช้าๆ ธัมโม เรามีกระแสแห่งพระธรรมชำระล้างจิตใจของเรา
หายใจเข้าลึกๆช้าๆ สังโฆ เรามีกำลังแรงครูบาอาจารย์ประสิทธิ์ประสาทคุ้มครอง
จากนั้นกำหนดว่าเราขอโมทนาสาธุกับเพื่อนๆที่ปฏิบัติธรรมด้วยทุกคน โมทนากับทุกบุญ ทุกกุศล รวมทั้งกัลยาณมิตรที่มาปฏิบัติ มาฟังในภายหลัง กำหนดน้อมใจของเราให้สว่างที่สุด ผ่องใสที่สุด จิตเป็นเพชรสว่าง และกำหนดว่านับแต่นี้ การทรงอารมณ์ในความผ่องใส จิตที่เป็นเพชรประกายพรึก การยกจิตของเราขึ้นไปบนพระนิพพาน ยิ่งเป็นเรื่องง่ายดายขึ้น คล่องตัวขึ้น สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนากับทุกคนนะครับ ก็ขอให้ทุกคนเจริญรุ่งเรือง ชีวิตในทางโลก ทางธรรมก็ขอให้เจริญขึ้นยิ่งขึ้นไป สำหรับวันนี้ก็สวัสดี พบกันใหม่ครั้งหน้านะครับ
ขอให้ตั้งใจฝึกปฏิบัติสม่ำเสมอต่อเนื่อง ทั้งในระหว่างที่เราดำเนินชีวิต และก็ในเวลาที่เรากำหนดว่าเป็นการปฏิบัติธรรมของแต่ละบุคคล และจุดสำคัญที่สุด อยู่ในระหว่างที่เราดำเนินชีวิตประจำวัน ทรงความผ่องใสให้ได้เป็นปกติ คนอื่นโมโห คนอื่นหงุดหงิด คนอื่นวีน แต่เรายังผ่องใส เรายังทรงกำลังจิตของเราอยู่ได้เป็นปกติ
ตรงนี้ก็ถือว่าเรามีจิตตานุภาพอยู่เหนือสิ่งแวดล้อม อยู่เหนือกำลังของแรงกระทบต่างๆ นะ
ขอให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติทุกคน สวัสดีครับ
ถอดความและเรียบเรียงโดย : Be Vilawan